เกษตรจังหวัดปทุมธานีจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขับเคลื่อนการทำงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่
วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี นางศศิธร ชาญประเสริฐ เกษตรจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับอำเภอ (District Workshop : DW) ครั้งที่ 3/2566 โดยมีบุคคลเป้าหมายประกอบด้วย หัวหน้ากลุ่มทุกกลุ่ม เกษตรอำเภอทุกอำเภอ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรระดับจังหวัดและอำเภอ จำนวน 40 ราย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่
บรรยากาศการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามระบบส่งเสริมการเกษตร โดยใช้ BCG Model เพื่อนำเสนอผลงานนิทรรศการในรูปแบบ “สภากาแฟ” (World Café) กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย 1. สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี นำเสนอ ผลงานเรื่อง อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2. สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองปทุมธานี นำเสนอผลงานเรื่อง แนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อน BCG แปลงใหญ่ (ผักกาดหอม) 3. สำนักงานเกษตรอำเภอหนองเสือ นำเสนอผลงานเรื่อง BCG Value Chain ไม้ผลอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี 4. สำนักงานเกษตรอำเภอสามโคก นำเสนอผลงานเรื่อง BCG แปลงใหญ่ผัก (ผักกาดหอม) อำเภอสามโคก 5. สำนักงานเกษตรอำเภอคลองหลวง นำเสนอผลงานเรื่อง BCG Model ในการส่งเสริมการเกษตร สินค้า เตยหอม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 6. สำนักงานเกษตรอำเภอลำลูกกา นำเสนอผลงานเรื่อง การขับเคลื่อน BCG Modelปลาดุกลำลูกกา 7. สำนักงานเกษตรอำเภอลาดหลุมแก้ว นำเสนอผลงานเรื่อง BCG Model Vegetable (กะเพราป่า) 8. สำนักงานเกษตรอำเภอหนองเสือ นำเสนอผลงานเรื่อง วิสาหกิจชุมชน “ปู่กะย่าฟาร์ม คลอง 12” สู่วิสาหกิจชุมชน โมเดลเศรษฐกิจ BCG Model โดยภายในงานยังจัดกิจกรรมการประกวดนิทรรศการยอดเยี่ยม ผู้นำเสนอดีเด่น และเกษตรปทุมขวัญใจมหาชน
นางศศิธร ชาญประเสริฐ เกษตรจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามระบบส่งเสริมการเกษตร โครงการพัฒนาเครือข่ายงานส่งเสริมการเกษตร (ระบบส่งเสริมการเกษตร) ขับเคลื่อนการทำงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ ภายใต้กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการเกษตรและสหกรณ์ เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ ให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ เป็นเวทีเชื่อมโยงวิชาการจากแหล่งเรียนรู้ทางวิชาการไปสู่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดทักษะในการปฏิบัติงาน กำหนดเป้าหมายกิจกรรมล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ อันจะส่งผลให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ คิดอย่างเป็นระบบ วิเคราะห์ปัญหาอย่างรอบด้าน แก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุดและทันเวลา รวมทั้งการนำไปใช้ในการขับเคลื่อนเกษตรกรในพื้นที่ได้.
ข่าว วี ธีทัต